ไดโลโฟซอรัส หนึ่งในสายพันธุ์ไดโนเสาร์กินเนื้อ จากยุคจูแรสซิกตอนต้น พวกมันมีลักษณะเด่นอยู่ตรงแผงหงอนคู่บนศีรษะ จึงถูกเรียกว่ากิ้งก่าหงอนคู่ ผู้อ่านหลายท่านอาจจะคุ้นเคย หรืออาจจะพบเห็นตามสารคดีไดโนเสาร์ หรือในภาพยนตร์ชื่อดังหลายๆ เรื่อง ซึ่งบทความนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักพวกมันให้มากยิ่งขึ้น
ไดโลโฟซอรัส (Dilophosaurus) เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ไดโนเสาร์กินเนื้อ ซึ่งตัวผู้จะมีลักษณะเด่น คือแผงหงอนเหนือศีรษะ มีข้อสันนิษฐานว่ามันมีไว้โอ้อวดตัวเมีย ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ คล้ายกับ ไมโครแรปเตอร์ หรือคล้ายกับสัตว์ปีกในปัจจุบัน และชื่อของมันหมายถึงกิ้งก่ามีหงอน ถูกพบที่ทวีปอเมริกาเหนือ
พวกมันอาศัยอยู่ในยุคจูแรสซิกตอนต้น เมื่อประมาณ 208 ล้านปีก่อน พวกมันมีความยาวประมาณ 6-7 เมตร มีฟันหน้าที่แหลมคม ซึ่งทำให้นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อว่า มีไว้สำหรับฉีกเนื้อของเหยื่อ มากกว่าการขย้ำหรือกัด เพราะมันมีกะโหลกค่อนข้างเปราะบาง สิ่งที่ทำให้มันมีชื่อเสียง ก็คือบทบาทในภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park
ภาพยนตร์เรื่องจูราสสิคพาร์ค พวกมันสามารถกางแผงคอ และยังสามารถพ่นพิษออกจากปากได้ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับงูเห่าที่พ่นพิษออกมา ซึ่งมักจะพบได้ในทวีปเอเชียและแอฟริกา แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่การเพิ่มอรรถรสในการรับชมเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน ว่าพวกมันสามารถพ่นพิษ หรือกางแผงคอได้ [1]
ในปี 1942 นักบรรพชีวินวิทยา ชาร์ลส์ แอล. แคมป์ (Charles L. Camp) ได้นำคณะสำรวจภาคสนามจาก พิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้ทำการออกค้นหาสัตว์มีกระดูกสันหลัง ที่เป็นฟอสซิลในทวีปทางตอนเหนือของรัฐแอริโซนา ซึ่งข่าวนี้แพร่กระจายไปในหมู่ชนพื้นเมืองอเมริกันเท่านั้น
ชาวพื้นเมืองนาวาโฮ เจสซี วิลเลียมส์ ได้นำคณะสำรวจออกค้นหาซากดึกดำบรรพ์ ที่ถูกค้นพบในปี 1940 โดยพื้นที่ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของ Kayenta Formation ซึ่งห่างออกไปทางตอนเหนือประมาณ 32 กิโลเมตร ของเมืองคาเมรอน ใกล้กับเมืองทูบาซิตี้ ในเขตสงวนของอินเดียนแดง ฟอสซิลถูกพบในชั้นหินดินดาน
มีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ 3 โครงในหินดินดานสีม่วง เรียงเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวด้านละประมาณ 9.1 เมตร โครงกระดูกแรกเกือบสมบูรณ์ ขาดเพียงแค่ส่วนหน้าของกะโหลกศีรษะ ส่วนกระดูกเชิงกราน และกระดูกสันหลังบางส่วนอาจถูกกัดเซาะ โดยโครงกระดูกเหล่านี้ถูกบล็อกด้วยปูนเป็นเวลา 10 วัน [2]
สำหรับการค้นพบซากฟอสซิลของ ไดโลโฟซอรัส (Dilophosaurus) เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งนำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับไดโนเสาร์สายพันธุ์นี้มากขึ้น ซึ่งข้อมูลในส่วนถัดไป ทางผู้เขียนจะพาทุกท่าน ไปดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไดโนเสาร์ตัวนี้ พร้อมบอกข้อมูลเกี่ยวกับวิถีการดำรงชีวิตของพวกมัน
Dilophosaurus เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง ที่ดำรงชีวิตในยุคจูแรสซิกตอนต้น ชื่อของมันมาจากกระดูกบางๆ ที่โผล่ตรงส่วนกะโหลกศีรษะ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เกี้ยวพาราสี แต่แท้จริงแล้ว หงอนที่ยื่นออกมา และความสามารถในการพ่นพิษใส่ศัตรู เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น และไม่มีหลักฐานยืนยันข้อมูลอย่างชัดเจน
เนื่องจากมันเป็นไดโนเสาร์นักล่าดั้งเดิม จึงไม่มีดวงตาที่หันไปข้างหน้า เพื่อให้มองเห็นภาพสามมิติได้ แต่อาจใช้การดมกลิ่นเป็นเทคนิคในการล่าเหยื่อ พวกมันมีฟันที่แหลมคม ยาวและโค้งงอ สำหรับการออกล่าเหยื่อ พวกมันอาจจะใช้ความเร็วในการวิ่งสูงสุด ประมาณ 30 ไมล์ต่อชั่วโมง และมันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเทอโรพอด [3]
โดยรวมแล้ว พวกมันเป็นไดโนเสาร์กินเนื้อ ที่มีวิวัฒนาการในช่วงยุคจูแรสซิกตอนต้น ซึ่งเป็นยุคที่ไดโนเสาร์ เริ่มครอบครองพื้นที่บนโลก ถึงแม้ว่ามันจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เมื่อช่วงปลายยุคจูแรสซิกตอนต้น แต่จากการศึกษาฟอสซิลของมัน ทำให้ได้รู้ข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับการวิวัฒนาการไดโนเสาร์กินเนื้อในยุคหลัง